เว็บไซต์มีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและการตั้งค่าคุกกี้ได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้

สืบสานวัฒนธรรมชาติพันธุ์ ปีใหม่ลาหู่นานาชาติ
ชาวลาหู่กว่า 5 พันคนจากทั่วโลก ร่วมงานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่ลาหู่นานาชาติ ครั้งที่ 1

วันที่ 11 ถึง 13 มกราคม ที่อาคารสายธารธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ (เขตแม่คาว) ตำบลสันพระเนตร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดงาน "สืบสานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่ลาหู่นานาชาติ ครั้งที่ 1" โดยมีชาวลาหู่แต่งกายแบบดั้งเดิมจากหลายประเทศเข้าร่วมงาน ได้แก่ ไทย, เมียนมา, เวียดนาม, ลาว, สิงคโปร์, จีน, ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา จำนวนกว่า 5,000 คน โดยนับเป็นครั้งแรกเป็นที่มีการรวมตัวกันของชาติพันธุ์ลาหู่จากหลายประเทศ จัดงานสืบสานวัฒนธรรมลาหู่นานาชาติขึ้น

ในวันที่ 12 มกราคม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมแต่งกายในชุดลาหู่แดง และได้ชมการแสดงจากชาวลาหู่ในการต้อนรับ

จากนั้นนายกฯ ได้ตีกลองถือเป็นการเปิดงานวัฒนธรรมประเพณีลาหุ่นานาชาติครั้งที่ 1 และได้ร่วมพิธีล้างมือ ซึ่งเป็นการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ของชาวลาหู่ เพื่อขอพรจากผู้ใหญ่ และได้รับมอบของที่ระลึกจากชาวลาหู่

อ.ปรีชา ดวงแสง ประธานจัดงานฯ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีจำนวนชาติพันธุ์ลาหู่อาศัยอยู่ราว 150,000 คน กระจายอยู่ตามหมู่บ้านในแนวชายแดนไทย-เมียนมา กว่า 800 หมู่บ้าน โดยพื้นที่ที่มีชาติพันธุ์ลาหู่อาศัยอยู่มาก ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง และเชียงใหม่ ปัจจุบันวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่ดีงามของชาติพันธุ์ลาหู่มีการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่น้อยลง ในขณะที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากภายนอก เข้ามามีอิทธิพลในสังคมชาติพันธุ์ลาหู่มากขึ้น จึงมีการจัดงานเพื่อให้พี่น้องชาติพันธุ์ลาหู่ได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟู สืบสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อให้สังคมลาหู่มีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป

ภายในงานมีการเผยแพร่ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี นิทรรศการ การแสดงต่างๆ ของชาวลาหู่ เช่น การเต้นรำแบบลาหู่ (ก่าเคะเว), การสาธิตกีฬาพื้นบ้าน, การแข่งกีฬา, การแสดงดนตรี และยังมีการจำหน่ายสินค้าของชาวลาหู่หลายชนิด เช่น กระเป๋า, เสื้อผ้า, เครื่องประดับ, เครื่องเงิน

ทั้งนี้ การทำพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่นเขตพื้นที่สูง กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ภาคเหนือ อยู่ภายใต้สังกัดของคริสตจักรภาคที่ 18 แห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย

________________________________________

ติดตาม CGN Thai News ข่าวสารสำหรับคริสเตียนไทย ได้ทาง Facebook