เว็บไซต์มีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและการตั้งค่าคุกกี้ได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้

อนุรักษ์นิยมในศาสนศาสตร์ เสรีนิยมในจิตวิญญาณ

อนุรักษ์นิยมในศาสนศาสตร์ เสรีนิยมในจิตวิญญาณ: ศาสนศาสตร์สมัยใหม่และคณะมิชชันนารีเพรสไบทีเรียนอเมริกันในประเทศไทย 1891 - 1941 ความขัดแย้งทางศาสนศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งส่งอิทธิพลมายังคณะมิชชันนารีในไทย แต่ด้วยปัจจัยหลายประการ ความขัดแย้งนี้ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงต่อการทำงานในภาคสนาม


ลัทธิศาสนศาสตร์สมัยใหม่ (Modernism) มีบทบาทสำคัญต่อแนวทางพันธกิจของคณะมิชชันนารีเพรสไบทีเรียนอเมริกันในประเทศไทยระหว่างปี 1891 - 1941 โดยเน้นให้ความสำคัญกับงานด้านการศึกษาเหนือกว่างานประกาศพระกิตติคุณ อย่างไรก็ตาม กลุ่มมิชชันนารีในไทยไม่ได้เผชิญความขัดแย้งทางศาสนศาสตร์ระหว่างแนวคิดเสรีนิยมและแนวคิดอนุรักษ์นิยมมากนัก


ศจ.ดร.คาร์ล ดาห์ลเฟร็ด อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากพระคริสตธรรมเชียงใหม่ กล่าวในการบรรยายหัวข้อดังกล่าวว่า แม้ว่ามิชชันนารีส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม แต่ไม่ใช่ทุกคน และมีบางส่วนที่เปลี่ยนแนวคิดจนต้องลาออกจากพันธกิจ ขณะที่คนส่วนใหญ่เลือกหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและมุ่งเน้นการทำงานร่วมกัน


ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ระหว่างปี 1910 จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง คณะมิชชันนารีเพรสไบทีเรียนอเมริกันได้ทุ่มเททรัพยากรไปกับการสร้างโรงเรียนในไทย ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับบทบาทของโรงเรียนในงานประกาศพระกิตติคุณ ในปี 1935 โดนัลด์ เกรย์ บาร์นเฮาส์ ศิษยาภิบาลจากฟิลาเดลเฟีย สหรัฐฯ ได้จัดการประชุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่แตกต่างกันออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการศึกษาเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ความเชื่อผ่านแบบอย่างของครู ขณะที่อีกฝ่ายแย้งว่าโรงเรียนไม่ได้สร้างผู้เชื่อใหม่ได้มากเท่ากับการประกาศพระกิตติคุณโดยตรง


ข้อมูลจากปี 1932 แสดงให้เห็นว่ามิชชันนารีเพรสไบทีเรียนในไทย 46% ทำพันธกิจด้านการศึกษา ขณะที่ 25% มุ่งเน้นการประกาศพระกิตติคุณ อีก 20% ทำพันธกิจด้านการแพทย์ และ 8% ทำพันธกิจทั่วไป ทั้งนี้ ผู้ที่ทำงานด้านการประกาศมักจะต้องมีบทบาทในโรงเรียนด้วย และเมื่อขอบุคลากรเพิ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นการขอครูมากกว่านักประกาศ


แม้จะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน แต่การขัดแย้งระหว่างลัทธิศาสนศาสตร์สมัยใหม่และแนวคิดมูลฐานนิยม (Fundamentalism) กลับไม่รุนแรงในบริบทของมิชชันนารีในไทย ซึ่งศจ.ดร.ดาห์ลเฟร็ดให้เหตุผลว่าเกิดจาก 6 ปัจจัย ได้แก่

1. สภาพแวดล้อมทางสังคมและพันธกิจ

2. ขาดอิทธิพลทางความคิดจากตะวันตก

3. ไม่มีผู้ที่ต้องการต่อสู้เพื่อความเชื่อของตนเอง

4. การที่คณะเพรสไบทีเรียนอเมริกันมีอิทธิพลเหนือพันธกิจในไทย

5. ความสำคัญของความเป็นหนึ่งเดียวในคณะมิชชันนารี

6. ลักษณะของบุคคลที่พันธกิจในไทยดึงดูด


งานวิจัยชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นผลกระทบของความขัดแย้งทางศาสนศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งส่งอิทธิพลมายังคณะมิชชันนารีในไทย แต่ด้วยปัจจัยหลายประการ ความขัดแย้งนี้ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงต่อการทำงานในภาคสนาม


เมื่อถามว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไรในปัจจุบัน ศจ.ดร.ดาห์ลเฟร็ด กล่าวว่า ในคณะมิชชันหรือคริสตจักรจะมีหลักข้อเชื่อที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนที่ทุกคนในองค์กรจะยอมรับ แต่ความเชื่อเราอาจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เราจะยอมรับได้หรือไม่หากในองค์กรหรือคริสตจักรจะมีความเชื่อที่หลากหลาย หรือเราต้องการรักษาความเชื่อเดียวกัน หากเราไม่ย้ำความเชื่อสม่ำเสมอ ก็อาจทำให้ความเชื่อบางคนเปลี่ยนแปลงไป คนที่เปลี่ยนแปลงความเชื่อ เขาจะเก็บไว้เงียบๆ เพราะต้องการอยู่ในองค์กรหรือคริสตจักรต่อโดยที่ยังไม่พร้อมที่จะออก แต่ผู้ที่มีความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงและประกาศอย่างตรงไปตรงมา ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง หากทุกคนในองค์กรไม่มีความเชื่อที่เหมือนกัน หรือเริ่มมีความหลากหลายมากเกินกว่าที่บางคนยอมรับได้


"บทเรียนที่ผมได้คือเมื่อเราพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาหรือความแตกต่างด้านศาสนศาสตร์ เราอาจจะหลีกเลี่ยงการขัดแย้งได้ช่วงหนึ่ง แต่ในที่สุดความแตกต่างจะโผล่ออกมา เราหลีกเลี่ยงความแตกต่างตลอดเวลาไม่ได้"


กรณีที่คริสตจักรและองค์กรจะปรับปรุงหลักข้อเชื่อเมื่อเวลาผ่านไปได้หรือไม่ ศจ.ดร.ดาห์ลเฟร็ด แนะว่า ต้องมีการอธิบายอย่างชัดเจนกว่าเดิมในบางเรื่อง ขณะคริสจักรหรือองค์การต้องกลับมารีวิว เมื่อมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามา ต้องมีการตัดสินใจว่าเราจะรับหรือไม่รับ 


"เมื่อเรากลับไปดูพระคัมภีร์ ต้องจําไว้ว่าไม่ใช่ทุกสิ่งที่ใหม่เป็นสิ่งที่ถูกตลอด บางครั้งเรารับสิ่งใหม่เพราะเราพบว่าความเข้าใจเดิมของเราไม่ถูกต้อง และบางครั้งเรามีสิ่งใหม่ที่เข้ามาที่ไม่สอดคล้องกับหลักข้อเชื่อของอัครทูต ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่มาก่อน เราต้องคิดว่าเคยมีความเชื่ออย่างนี้ในประวัติศาสตร์คริสตจักร เป็นสิ่งที่ถูกตามพระคัมภีร์หรือเทรนด์"


การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านคริสต์ศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทย ค.ศ. 2025 หรือ Thailand Theological Academic Conference (TTAC) 2025 ซึ่งจัดโดยสมาคมพระคริสตธรรมไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม 2025 




________________________________________

ติดตาม CGN Thai News ข่าวสารสำหรับคริสเตียนไทย ได้ทาง Facebook