เว็บไซต์มีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและการตั้งค่าคุกกี้ได้ที่ นโยบายการใช้คุกกี้
บทบาทการช่วยเหลือของคริสเตียน สำแดงความรักพระเจ้าในช่วงเวลาหลังเกิดภัยพิบัติ
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่ประเทศเมียนมา ส่งผลให้แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง อาคารสูงหลายแห่งมีรอยแตกร้าว ขณะที่อาคารที่กำลังก่อสร้าง 1 แห่งเกิดการพังถล่ม ช่วงเวลาดังกล่าวผู้คนจำนวนมากต่างตื่นตระหนก รีบอพยพออกจากที่พักอาศัยและที่ทำงาน ส่งผลให้การจราจรเป็นอัมพาตในหลายพื้นที่ รถไฟฟ้าหยุดให้บริการชั่วคราว ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องใช้การเดินเท้ากลับบ้าน หรือพักรออยู่ตามสวนสาธารณะจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ดร.กนก ลีฬหเกรียงไกร ศิษยาภิบาลคริสตจักรกิจการของพระคริสต์ ธนบุรี ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์หลังภัยพิบัติ (Post-Disaster Phase) ว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหวไม่ได้จำกัดอยู่เพียงความเสียหายทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อจิตใจของผู้คน
“เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ผู้คนจะรู้สึกหวาดกลัว ตื่นตระหนก และวิตกกังวล บางคนอาจเกิดอาการเวียนศีรษะหรือรู้สึกไม่มั่นคงกับสิ่งรอบตัว ผลกระทบนี้ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นชั่วขณะ แต่สามารถส่งผลต่อจิตใจไปอีกเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน” ดร.กนกกล่าว
นอกจากผลกระทบทางจิตใจแล้ว เศรษฐกิจและสังคมก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน หากรัฐบาลไม่มีแผนรับมือที่ดี อาจเกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ เพราะความไม่มั่นใจของประชาชนและนักลงทุน “เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงระดับมหภาค การฟื้นตัวจากภัยพิบัติต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน” ดร.กนก กล่าว
ในช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังเผชิญกับความสูญเสียและความไม่แน่นอน คริสเตียนสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือและสำแดงความรักของพระเจ้า ดร.กนก กล่าวว่า หลายคริสตจักรได้เปิดสถานที่เพื่อให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการสำแดงความรักและความเอื้ออารีต่อเพื่อนมนุษย์
“ในภาวะแบบนี้ สิ่งสำคัญคือการช่วยเหลือกัน ไม่เอาเปรียบกัน และสำแดงความรักของพระเจ้าออกไป ผมเห็นว่าคริสตจักรหลายแห่งเริ่มให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เช่น เปิดอาคารคริสตจักรเป็นที่พักชั่วคราว จัดเตรียมอาหารและสิ่งของจำเป็น หรือแม้แต่เพียงการเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ที่กำลังตื่นตระหนก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการประกาศพระกิตติคุณผ่านการกระทำ”
นอกจากนี้ ดร.กนก ยังเน้นว่า การช่วยเหลือไม่ได้จำกัดแค่การตอบสนองด้านร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเยียวยาด้านจิตใจ การมีส่วนร่วมในการให้กำลังใจ รับฟัง และอธิษฐานเผื่อผู้ที่กำลังเผชิญกับความกลัวและความกังวลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก “บางครั้งคนไม่ได้ต้องการแค่ข้าวของเครื่องใช้ แต่เขาต้องการความหวัง และพระเยซูคริสต์คือแหล่งของความหวังที่แท้จริง” ดร.กนก กล่าว
เมื่อถามว่าคริสเตียนสามารถใช้โอกาสนี้ในการประกาศพระกิตติคุณได้อย่างไร ดร.กนก กล่าวว่า "การประกาศพระกิตติคุณต้องทำในเวลาที่เหมาะสม"
“เมื่อคนเพิ่งเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรง จิตใจเขาจะเต็มไปด้วยความวิตกกังวลและความไม่มั่นคง อาจยังไม่พร้อมที่จะเปิดใจรับฟังเรื่องความรอด ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการให้ความช่วยเหลือก่อน สร้างความไว้วางใจ และเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงจุดที่เขาสงบพอ ค่อยแบ่งปันข่าวประเสริฐ”
ดร.กนก ยังกล่าวถึงผลการวิจัยที่ชี้ว่า ในบรรยากาศที่ตึงเครียดหรือมีแรงกดดันสูง ผู้คนมักจะตัดสินใจบนพื้นฐานของอารมณ์ มากกว่าการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน “การที่เราจะนำใครสักคนมาถึงความเชื่อในพระเยซูคริสต์ได้ เขาต้องมีเวลาไตร่ตรอง ใคร่ครวญ และตกผลึกความคิด การประกาศที่มีประสิทธิภาพจึงควรเกิดขึ้นเมื่อผู้ฟังพร้อมจะรับฟัง ไม่ใช่เพราะแรงกดดันจากสถานการณ์”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คริสเตียนสามารถทำได้ในช่วงเวลานี้คือ การเป็นพยานผ่านการกระทำ การช่วยเหลืออย่างเสียสละ การให้กำลังใจ และการแสดงออกถึงความรักของพระเจ้า สามารถนำไปสู่โอกาสที่ผู้คนจะเริ่มตั้งคำถามและสนใจเรื่องของพระเยซูคริสต์มากขึ้น